Welcome to บริการรับฝากขาย บ้าน ที่ดิน อสังหาฯ ทุกชนิด จ.ขอนแก่น ฟรี !! ค่าโฆษณา Tel. : 083-599-3344 / Line ID : @bank.asangha

วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

ประกัน MRTA คืออะไร ?



เรื่องกู้ซื้อบ้านพร้อมกับทำประกันชีวิตหลายคนอาจเคยเจอด้วยตัวเอง หลายคนจำใจทำเพราะอยากให้การอนุมัติเงินกู้ซื้อบ้านจบเร็วๆ บางคนตัดสินใจทำเพราะเห็นแก่ดอกเบี้ยที่ถูกกว่าการกู้ปกติที่ผู้กู้ไม่ได้ทำประกัน แต่บางคนตัดสินใจทำเพราะเห็นแก่ประโยชน์ ประกันที่ว่านี้คือ ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ MRTA (Mortgage Reducing Term Assurance)  

ประกันชีวิตตัวนี้ส่วนใหญ่เสนอขายผ่านธนาคารผู้ให้สินเชื่อ ในขณะที่เจ้าของผลิตภัณฑ์คือบริษัทประกัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นบริษัทในเครือของธนาคารนั่นเอง และที่ผ่านมามีการร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปยัง คปภ. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) ทั้งเรื่องเทคนิคการขายของเจ้าหน้าที่สินเชื่อ ที่ทำให้ผู้กู้เข้าใจและรู้สึกว่าต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือบางทีข้อมูลที่ได้รับแจ้งไม่ครบหรือผิดไปจากข้อเท็จจริง

ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกประกาศมากำชับอีกครั้ง สาระสำคัญคือให้สิทธิแก่ผู้บริโภคที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และบริการการเงินได้อย่างอิสระ และห้ามธนาคารพาณิชย์บังคับขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัยควบคู่กับผลิตภัณฑ์ของธนาคารพาณิชย์ หรือกำหนดเงื่อนไขขายหรือให้บริการผลิตภัณฑ์หลัก เช่น ให้ผู้บริโภคทำประกันภัยกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เพื่อเป็นเงื่อนไขพิจารณาให้สินเชื่อ

ประกาศฉบับนี้อาจลดดีกรีความเข้มข้นของการนำเสนอขายลงได้บ้าง แต่ก็จะมีกลยุทธ์อื่นที่เร้าใจกว่าแทน เพราะดูจากโปรโมชั่นของแต่ละแบงก์ตอนนี้อาจทำให้ผู้กู้ลังเล เพราะดอกเบี้ยบ้านจะถูกลงตั้งแต่ 0.25-0.50% หากลูกค้าตัดสินใจทำประกันด้วย

จะว่าไปประกัน MRTA ก็มีประโยชน์ไม่ใช่น้อยเช่น ในกรณีเกิดเหตุไม่คาดคิดต่อผู้กู้ในระหว่างที่กำลังผ่อนบ้านกับธนาคาร ผู้รับมรดกก็ไม่ต้องลำบากเพราะบริษัทประกันจะเป็นผู้รับภาระแทน นอกจากนี้ถ้าทำประกันเกิน 10 ปียังสามารถนำเงินค่าเบี้ยประกันไปหักลดหย่อนภาษีได้ ส่วนการชำระเงินก็ง่าย เพราะปกติผู้กู้สามารถกู้ไปพร้อมกับสินเชื่อบ้านและผ่อนชำระไปพร้อมกัน เพียงแต่บัญชีเงินกู้จะแยกกันและอัตราดอกเบี้ยจะสูงกว่า

อย่างไรก็ตามประกันตัวนี้อาจมีเงื่อนไขที่ต่างจากประกันชีวิตปกติ นั่นคือทุนประกันคุ้มครองจะลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นศูนย์ และหลักการที่ถูกคือทุนประกันคุ้มครองจะหมดลงพร้อมการสิ้นสุดของสัญญาเงินกู้บ้าน ดังนั้นเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดผู้กู้จึงควรทำประกันครอบคลุมตลอดระยะเวลาผ่อนบ้าน เช่น ผ่อนบ้าน 20 ปี อาจต้องทำประกัน 20 ปี เป็นต้น เพราะหากทำประกันแค่ 10 ปี แต่ในปีที่ 8 ผู้กู้เสียชีวิตลง และขณะนั้นภาระผ่อนหนี้ยังสูงกว่าทุนประกันที่คุ้มครอง คนอยู่ข้างหลังอาจต้องรับผิดชอบหนี้ส่วนต่างนั้น

ขณะเดียวกันถ้าทำประกันคุ้มครองเท่ากับระยะเวลากู้ แต่ในระหว่างกู้ได้มีการโปะเงินก้อนซึ่งทำให้ภาระหนี้ลดลงมาก ถ้าผู้กู้เกิดเสียชีวิตในขณะที่ทุนประกันคุ้มครองมีสัดส่วนสูงกว่าภาระหนี้ ผู้รับมรดกก็จะได้เงินส่วนต่างนั้นกลับไปเช่นกัน

นอกจากนี้ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อก็เหมือนกันประกันอื่นๆ ที่ผู้ทำประกันสามารถยกเลิกหรือเวนคืนกรมธรรม์พร้อมกับรับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ไปตามสัดส่วนได้ และในกรณีที่ผู้กู้ยกเลิกกรมธรรม์ก่อนถึงกำหนดสิ้นสุดอาจมีผลต่อดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านที่ต้องกลับเข้าสู่เงื่อนไขปกติ เหล่านี้เป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ผู้กู้ควรสอบถามให้แน่ชัดก่อนการตัดสินใจทุกครั้ง

ที่มา : Home Buyers' Guide

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น